บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สำหรับชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศจนถึงสิ้นปีงบประมาณค.ศ. 2020
เมื่อห้าปีที่แล้ว กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้เริ่มใช้ความรุนแรงและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประชากรของตนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมโรฮิงญา การโจมตีครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมปี 2016 ถึงมกราคมปี 2017 ระลอกที่สองเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2017 ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่าหนึ่งล้านคนต้องหลบหนีออกจากเมียนมา
ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 860,000 คนอาศัยอยู่ในแคมป์ในเขตค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ อีก 150,000 คนอาศัยอยู่ตามประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งอินเดีย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ชาวโรฮิงญาอีกราว 600,000 คนยังคงอยู่ในเมียนมาและต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ในจำนวนนี้ กว่า 130,000 คนเป็นผู้พลัดถิ่นภายในค่ายซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรัฐยะไข่
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม สหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสมือนจริง ในหัวข้อ “การสนับสนุนระหว่างประเทศที่ยั่งยืนสำหรับการตอบสนองต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา” เพื่อกระตุ้นให้ชาติอื่น ๆ ให้ความช่วยเหลือต่อวิกฤตที่กำลังดำเนินอยู่ และยืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศ โดยประกาศให้งบประมาณเพิ่มเติมเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจนถึงสิ้นปีงบประมาณปี 2020 รวมงบประมาณที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือสำหรับการรับมือกับวิกฤตนี้เป็นมูลค่าเกือบ 1,200 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2017
สตีเฟน บีกัน (Stephen Biegun) รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมเสมือนจริง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรปและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเน้นย้ำถึงความพยายามระหว่างประเทศในการแก้ไขวิกฤตนี้ และว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหาทางช่วยเหลือประชากรที่มีความเปราะบางเหล่านี้ ในขณะที่เพิ่มความพยายามขึ้นอีกสองเท่าในการหาแนวทางแก้ไขวิกฤตในระยะยาวอย่างยั่งยืน”
เขาเน้นย้ำถึงบทบาทของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการส่งชาวโรฮิงญากลับสู่เมียนมาด้วยความสมัครใจ ปลอดภัย สมเกียรติ และยั่งยืน
รอง รมต. ต่างประเทศสหรัฐ บีกัน กล่าวอีกว่า “ในขั้นตอนแรก เมียนมาจะต้องให้การเข้าถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่มีข้อจำกัดและมีมนุษยธรรม สหรัฐฯ จะยังคงให้ความร่วมมือกับเมียนมาในความพยายามนี้” และยังตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีสิ่งที่ต้องทำมากกว่านี้เพื่อแก้ไขต้นตอของปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่ รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อยุติการค้าอาวุธและยาเสพติดที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและความไร้เสถียรภาพของเมียนมา มาเป็นเวลายาวนาน
“ในฐานะผู้นำ สหรัฐให้ความสำคัญกับการตอบสนองของนานาชาติต่อสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและที่อื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งผู้พลัดถิ่นภายในพม่า และว่าสหรัฐจะให้ผู้กระทำผิดรับโทษต่อการกระทำทารุณอันน่าหวาดกลัวที่เกิดขึ้น และจะทำงานร่วมกับชุมชนชาวโรฮิงญาเพื่อกำหนดนโยบายที่สะท้อนถึงการตัดสินใจของชุมชนเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ”