บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
สหรัฐอเมริกากังวลว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและการจัดการพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันในประเทศจีนว่าล้านช้าง
ลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งไหลจากจีนผ่านพม่า กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม และระบายลงสู่ทะเลจีนใต้ เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 60 ล้านคน โดย 85 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นพึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิตโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเกษตรและการประมงในเขตชลประทาน
นั่นหมายความว่า เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขงอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสุขภาพของประชากรนับล้านคนทั่วภูมิภาค
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างที่ผันผวนร่วมกับสภาวะภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากในหมู่ประชากรจีนที่อาศัยอยู่ทางท้ายน้ำ ทั้งนี้ ปักกิ่งดำเนินการสร้างเขื่อนหลัก 11 แห่งตามแนวแม่น้ำและลำน้ำสาขาซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพน้ำสำหรับประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น
ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนสัญญาว่าจะแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยาตลอดทั้งปีของลุ่มแม่น้ำโขงที่ตนรวบรวมไว้ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม และภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเตือนล่วงหน้าจากปักกิ่งเมื่อต้นปีนี้ เมื่อจู่ ๆ ระดับน้ำเริ่มผันผวนอย่างรุนแรงทางตอนใต้ของเขื่อนจิ่งหงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ชุมชนท้ายน้ำจึงไม่มีเวลาเตรียมตัวหรือตอบสนองต่อระดับน้ำที่ต่ำกว่าปกติถึง 50 เปอร์เซ็นต์
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีหน้าที่รับผิดชอบในการแจ้งให้ประชากรที่อาศัยอยู่ทางท้ายน้ำทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อแม่น้ำ
เน็ด ไพรซ์ (Ned Price) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในคำแถลงการณ์ว่า “สหรัฐฯ สนับสนุนความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรข้ามแดน เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องชี้นำการทำงานของเราในการส่งเสริมสุขภาพและความยั่งยืนของแม่น้ำโขงซึ่งมีประชากรเกือบ 70 ล้านคนพึ่งพาอาศัยอยู่”
“สหรัฐฯ แสดงความกังวลร่วมกับรัฐบาลในภูมิภาคแม่น้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเกี่ยวกับความผันผวนอย่างรวดเร็วเมื่อครั้งที่ผ่านมา และระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง รวมทั้งเข้าร่วมเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาชนจีนแบ่งปันข้อมูลน้ำที่จำเป็นและทันท่วงที รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของเขื่อนต้นน้ำ เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จีนจะต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาตลอดจนร่วมปรึกษาหารือกับประเทศปลายน้ำด้วย”
“สหรัฐฯ จะยังคงสนับสนุนรัฐบาลและชุมชนท้องถิ่นในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง - สหรัฐฯ ต่อไป”