บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ช่วยเหลือโครงการวัคซีนของ COVAX และจะบริจาคเพิ่มอีก 2 พันล้านดอลลาร์ในการกระตุ้นให้ประเทศอื่น ๆ ร่วมบริจาคด้วยเช่นเดียวกัน
รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับโลกนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า เมื่อโรคภัยไข้เจ็บรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นและแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้เห็นได้ว่าเราจำเป็นต้องร่วมมือกันหากต้องการเอาชนะโควิด-19 ให้ได้ในทุกหนทุกแห่ง
ทั้งนี้ เงิน 2 พันล้านดอลลาร์ก้อนแรกจะเป็นงบประมาณสำหรับปี 2021 ส่วนอีก 2 พันล้านดอลลาร์จะเป็นงบสำหรับปีถัดไป โดยงบประมาณเหล่านี้จะถูกส่งมอบให้กับ Gavi ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันระดับโลกเพื่อการบริหารโครงการการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก หรือ COVAX ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการแจกจ่ายวัคซีนอย่างน้อย 1,300 ล้านโดสให้แก่ชุมชนที่มีความเปราะบางทั่วโลก หรือคิดเป็นอัตราส่วน 20% ของประชากรโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี่ บลินเคน กล่าวเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในการบรรยายสรุปของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับ COVID-19 และการเข้าถึงวัคซีนว่า สหรัฐฯ เชื่อว่าพหุภาคี องค์การสหประชาชาติ และองค์การอนามัยโลก มีความสำคัญไม่ใช่แค่ในฐานะที่เป็นผู้ตอบสนองด้านวิกฤติสุขภาพโควิด-19 และด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิผล แต่ยังเสริมสร้างขีดความสามารถและความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย
“เราจะต้องเอาชนะโควิด-19 และป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดอีกในอนาคต ดังนั้นเราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกเพื่อเสริมสร้างและปฏิรูปองค์การอนามัยโลก เพื่อรองรับวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก เพื่อการเตรียมพร้อมที่ยั่งยืนสำหรับภัยคุกคามทางชีวภาพ เพื่อสร้างระบบเตือนภัยที่จะช่วยให้เราตอบสนองได้รวดเร็วขึ้นด้วยการทดสอบ ด้วยการติดตาม ด้วยอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลหรือ PPE ที่มีความจำเป็นในการช่วยชีวิต"
รมต. ต่างประเทศบลินเคน กล่าวอีกว่า แม้ว่าจะมีการขยายการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแล้ว แต่เราก็ทราบกันดีว่าการระบาดของโควิด-19 นั้นมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไปอีกหลายปี
“นับจากนี้ทุกประเทศควรมีส่วนร่วมในกระบวนการที่โปร่งใสและแข็งแกร่งในการป้องกันและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ เพื่อให้โลกได้เรียนรู้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ความโปร่งใส การแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงสำหรับผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแนวทางร่วมกันในการรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลกอย่างแท้จริง"
รมต. บลินเคนกล่าวส่งท้ายว่า “ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าสหรัฐฯ จะทำงานในฐานะพันธมิตรเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลก” และการเกิดโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายเหล่านั้น และเป็นการเปิดโอกาสให้เราไม่เพียงแต่จะผ่านพ้นวิกฤตในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังทำให้เรามีความเตรียมพร้อมมากขึ้นและสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในอนาคตอีกด้วย