บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ แสดงความเชื่อมั่นว่าหลายประเทศจะเข้าร่วมข้อตกลงของอับราฮัม และเป็นเอกภาพในการต่อต้านระบอบการปกครองของอิหร่าน
ในระหว่างการเดินทางของรมต.ต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ไปยังตะวันออกกลางเมื่อไม่นานมานี้ มีสองประเด็นเกิดขึ้น ประการแรกคือความมั่นใจว่าจะมีประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้เข้าร่วมกับบาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซูดาน ในข้อตกลงอับราฮัม และปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้เป็นปกติ ประการที่สองคือภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งเดียวกันในการตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากระบอบการปกครองที่เลวร้ายของอิหร่าน
ในการพูดคุยที่นครเยรูซาเล็มก่อนการประชุมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และรัฐมนตรีต่างประเทศบาห์เรน อับดุลลาติฟ บิน ราชิด อัล ซายานี รัฐมนตรีพอมเพโอกล่าวว่า "ข้อตกลงเหล่านี้มีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนทั้งโลก ... ข้อตกลงเหล่านี้ได้เปิดโอกาสที่ดีเยี่ยม ในการพัฒนาการค้าและเศรษฐกิจ และข้อตกลงเหล่านี้ยังทำให้ผู้แสดงเจตนาร้าย เช่น สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เห็นด้วยว่าอิทธิพลของพวกเขาในภูมิภาคนี้กำลังลดลง และพวกเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้นไปตลอดกาล เว้นเสียแต่ว่าผู้นำของอิหร่านจะเปลี่ยนทิศทางการปกครอง”
ในการให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์อัล – อาราบิยา ในกรุงอาบูดาบี รมต.พอมเพโอกล่าวว่า "ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้จะเข้าร่วมข้อตกลงอับราฮัมเมื่อถึงเวลา เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะทำเพื่อประเทศชาติในการเพิ่มพูนความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับประเทศของตน” เขาตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้เชื่อกันว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถแก้ไขปัญหาระหว่างอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดและไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง และความจริงก็คือ ตอนนี้ทั้งประเทศที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอราเบียนและอิสราเอลต่างรับรู้ว่าถูกคุกคามจากอิหร่านเหมือนกัน
ในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร National Review ในกรุงอาบูดาบีนั้น รมต. พอมเพโอ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ปาเลสไตน์ เขากล่าวว่า “เราไม่สามารถยืนรอเฉย ๆ ได้เหมือนที่เคยทำมาเป็นเวลา 40 ปีและปล่อยให้ความขัดแย้งนั้นกลายเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพต่อไป”
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ พอมเพโอ เรียกข้อตกลงอับราฮัมว่าเป็น "เครื่องชี้วัดสำหรับอนาคตของตะวันออกกลาง" ทั้งยังได้รับความร่วมมือตลอดจนความเป็นผู้นำจากสหรัฐฯ และเมื่อสหรัฐฯ มุ่งมั่นที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ชาวโลก รวมถึงประเทศในตะวันออกกลางแล้ว ก็จะมีชาติอื่นที่จะมาร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ และพวกเขาจะตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงการเลือกที่จะเป็นพันธมิตรกับอิสราเอล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติของตน