Accessibility links

Breaking News

บทบรรณาธิการ: การประชุมอินโด-แปซิฟิก ว่าด้วยการกระชับธรรมาภิบาลแม่น้ำข้ามพรมแดน


บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ

เดวิด สติลเวลล์ (David Stilwell) หัวหน้าฝ่ายทบวงกิจการเอเชียตะวันออกและประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก กล่าวในการเปิดการประชุมอินโด-แปซิฟิก ว่าด้วยการกระชับธรรมาภิบาลแม่น้ำข้ามพรมแดน (Indo-Pacific Conference on Strengthening Governance of Transboundary Rivers) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า แม่น้ำไม่ได้เป็นเพียงลักษณะทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์อีกด้วย

ประชากรที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำโขงต่างก็รู้ความจริงในข้อนี้ เพราะพวกเขาต้องทนอยู่กับผลกระทบอันเลวร้ายอันเกิดจากการควบคุมน้ำในระดับบน โดยมีผลกระทบที่เพิ่มขึ้นและร้ายแรงต่อชีวิตของประชากรหลายสิบล้านคนซึ่งแม่น้ำโขงเปรียบเสมือนชีวิตของพวกเขา

ศูนย์ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Center) หรือ EWC ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงกับสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสมือนจริงในวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 2020 โดยเรียกประชุมผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ สมาชิกภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแม่น้ำข้ามพรมแดนอื่น ๆ จากทั่วภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการจัดการด้านความร่วมมือเกี่ยวกับแม่น้ำข้ามพรมแดนสายนี้

นายสติลเวลล์ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง – สหรัฐฯ ครั้งใหม่ และบทบาทในการขยายการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ กับห้าประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เขาเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยจะเห็นได้จากงบประมาณจำนวน 3,900 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐฯ จัดหาให้ในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ตลอดจนการสนับสนุนที่มีมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC และการธรรมาภิบาลแม่น้ำข้ามพรมแดนที่โปร่งใส

เขายังเอ่ยถึงข้อกังวลของสหรัฐฯ เกี่ยวกับการควบคุมการไหลของแม่น้ำโขงเพียงฝ่ายเดียวของจีน และความจำเป็นในการแบ่งปันข้อมูลน้ำที่ครอบคลุมตลอดทั้งปีผ่าน MRC อีกด้วย

ในคำกล่าวปิดท้าย ไมเคิล เดซอมเบร (Michael DeSombre) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความสำเร็จในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่เพียงขึ้นอยู่กับสถาบันและความร่วมมือที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหมุนเวียนของข้อมูลที่โปร่งใสด้วย และนั่นคือเหตุผลที่สหรัฐฯ สร้าง Mekong Water Data Initiative หรือโครงการข้อริเริ่มในการจัดการข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง โดยได้รับข้อมูลจากรัฐบาลมากกว่า 60 ประเทศ และพันธมิตรขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO เพื่อปรับปรุงการแบ่งปันข้อมูลและการตัดสินใจบนพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์ แพลตฟอร์ม MekongWater.org ซึ่ง รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) ได้ประกาศใช้เมื่อปีที่แล้วมีเครื่องมือต่าง ๆ มากกว่า 40 รายการที่ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่การพยากรณ์อากาศไปจนถึงวิทยาศาสตร์พลเมือง” และว่า สหรัฐฯ วางแผนจะอัพเกรดแพลตฟอร์มนี้ครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

สหรัฐฯ พร้อมด้วยมิตรสหายและพันธมิตรจากทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องกับประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อสร้างอนาคตที่รุ่งเรือง ยั่งยืน และสมบูรณ์ โดยอาศัยทรัพยากรเหล่านี้ร่วมกัน

XS
SM
MD
LG