บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
หนึ่งในการทำหน้าที่ประธานาธิบดีครั้งแรกของโจ ไบเดน คือการลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความตกลงปารีสได้รับการรับรองโดยการประชุมสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติในกรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2015 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016 โดยองค์การสหประชาชาติมีรายชื่อภาคี 190 ประเทศในข้อตกลง ณ วันที่ 25 มกราคม 2021 ความตกลงปารีสก่อให้เกิดขอบข่ายงานที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับการดำเนินการระดับโลกเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่สร้างความยืดหยุ่นของโลกต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังประสบอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาภายในสิ้นศตวรรษนี้ ซึ่งเป็นจุดที่นักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนคาดการณ์ผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าจะเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล พายุ ความแห้งแล้ง และไฟป่า ที่รุนแรงมากขึ้น
ประธานาธิบดีไบเดนได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาตั้งใจให้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการบริหารงานของเขา ดังนั้น การเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้งจึงเป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาสำคัญของปธน.ไบเดน ในการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับตำแหน่ง เขาได้กล่าวว่า เสียงร้องเพื่อความอยู่รอดล้วนมาจากโลกของเรา ซึ่งเป็นเสียงร้องที่ไม่อาจสิ้นหวังหรือชัดเจนไปมากกว่านี้อีกแล้ว
เจน ซากี เลขาธิการสำนักข่าวประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า “การเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้งเป็นส่วนหนึ่งของลำดับความสำคัญของประธานาธิบดีไบเดน ในการสร้างความร่วมมือและพันธมิตรใหม่ ๆ ให้แก่ประเทศ และเพื่อคืนที่นั่งของอเมริกาบนเวทีระดับโลก และจะเห็นได้ว่า จากการที่ประธานาธิบดีไบเดนเข้าร่วมความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกอีกครั้งนั้น เขาได้วางแผนที่จะมีส่วนร่วมกับพันธมิตรและทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับภัยคุกคามและปัญหาต่าง ๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ทั่วโลก”
นอกจากนี้ ปธน.ไบเดนยังเสนอให้อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น แคร์รี เป็นผู้แทนพิเศษประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศคนแรก เพื่อให้แน่ใจว่ามีการนำเสนอความกังวลด้านสภาพอากาศในทุกการประชุม เขาจะนำความพยายามทางการทูตของสหรัฐฯ เพื่อยืนยันความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ อีกครั้ง และยกระดับจุดมุ่งหมายของโลกเพื่อตอบสนองความท้าทายด้านสภาพอากาศที่น่าสะพรึงกลัว
ประชาคมระหว่างประเทศต่างแสดงความยินดีที่สหรัฐฯ กลับเข้าสู่ความตกลงปารีส รวมไปถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ซึ่งทวีตข้อความว่า "การทำงานร่วมกัน จะทำให้เราแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายในช่วงเวลานี้ เราจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อนการสร้างอนาคต และในการปกป้องโลกของเรา"..."ยินดีต้อนรับกลับสู่ความตกลงปารีส!"