บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexander Lukashenka) ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจยาวนานของเบลารุส ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 กล่าวอ้างว่าตนได้รับชัยชนะอีกครั้งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย
คำกล่าวอ้างของเขาเรื่องชัยชนะด้วยคะแนนเสียง 80 เปอร์เซ็นต์นั้น ถูกโต้แย้งโดยพลเมืองเบลารุสหลายแสนคน ซึ่งพากันเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนเพราะเชื่อว่าผลการเลือกตั้งนั้นถูกบิดเบือน กองกำลังของรัฐบาลตอบโต้การประท้วงนี้อย่างรวดเร็วและไร้ความปราณี ด้วยการทำร้ายร่างกาย จับกุม และการกักขังผู้ประท้วง นักข่าว และสมาชิกของฝ่ายค้าน เป็นจำนวนหลายพันคน และมีผู้ประท้วงอย่างน้อยสี่คนที่ถูกสังหาร
หลังการเลือกตั้ง ผู้นำฝ่ายค้านของเบลารุส 2 คนหลบหนีออกนอกประเทศ รวมถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งของฝ่ายค้าน สเวียตลานา ซิคานูสกายา (Sviatlana Tsikhanouskaya) ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี หลังจากที่ เซอร์เก (Sergei) สามีของเธอ ซึ่งเป็นบล็อกเกอร์ทางด้านการเมือง ถูกจำคุกและถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
การประท้วงยังคงดำเนินต่อไปในหลายเมืองของเบลารุส ผู้ประท้วงกว่า 100,000 คนรวมตัวกันที่กรุงมินสก์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเบลารุส โดยผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการณรงค์ที่มีชื่อว่า "สตรีในชุดขาว" ที่ออกไปตามท้องถนนเพื่อประท้วงการปราบปรามที่รุนแรงและเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลอันเป็นที่รักที่ถูกตำรวจควบคุมตัวไว้
ผู้หญิงเหล่านั้นสวมชุดสีขาวและมักจะถือดอกไม้เอาไว้ พวกเธอเริ่มปรากฏตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในกรุงมินสก์ และมีการประท้วงในลักษณะเดียวกันนี้ที่ประเทศเยอรมนี โปแลนด์ เบลเยียม ยูเครน และรัสเซีย
เห็นได้ชัดจากการตอบสนองของชาวเบลารุสต่อการเลือกตั้งที่มีต่อข้อโต้แย้งในการเลือกตั้งว่า พวกเขาปรารถนาในบางสิ่งบางอย่างที่ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ไม่เคยมีให้ ในตลอดระยะเวลากว่า 26 ปีที่เขาครองอำนาจ ประชาคมระหว่างประเทศได้ยินเสียงเรียกร้องของชาวเบลารุสและยืนหยัดร่วมกับพวกเขาในความต้องการอธิปไตย
ผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำยุโรปได้แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อการดำเนินการเลือกตั้งในเบลารุส ที่ไม่มีทั้งเสรีภาพหรือความยุติธรรม รวมทั้งการตอบโต้การประท้วงอย่างรุนแรงของรัฐบาล ซึ่งกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนไปที่บรรดานักข่าว การทำร้ายร่างกายผู้ถูกคุมขังอย่างรุนแรง และการปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) กล่าวในระหว่างการเยือนโปแลนด์ เมื่อไม่นานมานี้ว่า "วัตถุประสงค์ร่วมกันคือการสนับสนุนชาวเบลารุสให้บรรลุอำนาจอธิปไตยของตนเอง เสรีภาพของตนเอง ซึ่งสร้างขึ้นมาจากสิ่งที่เห็นว่าเกิดขึ้นในการประท้วงเหล่านี้ ประชาชนเหล่านี้เรียกร้องสิ่งเรียบง่ายที่มนุษย์ทุกคนต้องการ นั่นคือสิทธิที่จะสามารถตัดสินใจเลือกรัฐบาลของพวกเขาเอง ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้ผู้นำของเบลารุสได้เปิดโอกาสให้กว้างขึ้นเพื่อโอบรับภาคประชาสังคมในลักษณะที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ตรงกันกับสิ่งที่ชาวเบลารุสกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้"