บทบรรณาธิการที่สะท้อนทัศนะของรัฐบาลสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูมาตรการคว่ำบาตรทุกมาตรการของสหประชาชาติที่เคยถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ 2231
สหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูมาตรการคว่ำบาตรทุกมาตรการของสหประชาชาติที่เคยถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงที่ 2231 เมื่อข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านหรือที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการในชื่อว่า Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA หมดอายุลงในปี พ.ศ. 2558 มติคณะมนตรีความมั่นคงที่ 2231 นี้ได้ให้สิทธิแต่ละประเทศในการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่เรียกว่า "snapback" โดยไม่มีเงื่อนไขหากอิหร่านฝ่าฝืนพันธสัญญาภายใต้ JCPOA
รมต. ต่างประเทศสหรัฐ ไมค์ พอมเพโอ แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงถึงการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในวันที่ 20 สิงหาคม การคว่ำบาตรจะกลับมามีผลในอีก 30 วันหลังจากนั้น การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ พยายามใช้วิธีทางการทูตทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่ออายุการห้ามอิหร่านใช้อาวุธนิวเคลียร์ ที่มีกำหนดจะหมดอายุในเดือนตุลาคมนี้
ไมค์ พอมเพโอ กล่าวกับผู้สื่อข่าวขององค์การสหประชาชาติว่า:
“สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ประเทศผู้สนับสนุนการก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดในโลกซื้อและขายเครื่องบินรถถัง ขีปนาวุธ และอาวุธทั่วไปประเภทอื่นๆ อย่างเสรี มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติเหล่านี้จะทำให้การคว่ำบาตรอาวุธดำเนินต่อไปได้"
นอกจากนี้มาตรการคว่ำบาตร snapback ยังห้ามมิให้อิหร่านทดสอบขีปนาวุธ และกิจกรรมนิวเคลียร์ต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น การเพิ่มคุณภาพของวัสดุนิวเคลียร์ที่สามารถนำไปใช้กับโครงการอาวุธนิวเคลียร์ได้
รมต. ต่างประเทศไมค์ พอมเพโอ กล่าวต่อไปอีกว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐบาลชุดนี้ไม่เชื่อเรื่องโกหกที่ว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการมีโครงการนิวเคลียร์อย่างสันติ และว่าสหรัฐฯ จะไม่มีทางยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์”
ไมค์ พอมเพโอ ชี้ว่า แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของอิหร่านในตะวันออกกลาง รวมถึงชาติในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ ยังเตือนคณะมนตรีความมั่นคงถึงอันตรายจากอิหร่านและความจำเป็นในการที่ไม่ปล่อยให้การคว่ำบาตรอาวุธหมดอายุลงไป นอกจากนี้ เขายังแสดงความกังวลถึงการที่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ได้บอกกล่าวเป็นการส่วนตัวว่า ตนไม่ต้องการให้การคว่ำบาตรอาวุธถูกยกเลิกไป แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อป้องกันเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้น:
“อเมริกาจะไม่ยอมเข้าร่วมความล้มเหลวในการเป็นผู้นำนี้ อเมริกาจะไม่ยอมจำนน และจะเป็นผู้นำในการสร้างแรงกดดันแก่อิหร่านเพิ่มขึ้น ให้ทำตัวเหมือนประเทศปกติทั่วไปและยอมหันมาเจรจาต่อรอง”
รมต. ต่างประเทศไมค์ พอมเพโอ กล่าวส่งท้ายว่า “สหรัฐฯ ขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันสร้างข้อตกลงที่แข็งแกร่งขึ้นเพื่อรับมือกับพฤติกรรมที่มุ่งร้ายของอิหร่านอย่างเต็มรูปแบบ และปกป้องพลเมืองทุกประเทศที่เพียงต้องการเป็นอิสระจากการปล้นสะดมของอิหร่าน”